KBank ร่วมกับ Lombard Odier ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2022
KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ ยังคงเติบโตแต่ในอัตราที่ชะลอลง
เชื่อสายพันธุ์โอมิครอน – เงินเฟ้อ – นโยบาย FED กระทบตลาดลงทุนเพียงชั่วคราว
แนะนำให้ลงทุนในหุ้นคุณค่า / วัฏจักร และสินทรัพย์นอกตลาดฯ หวังเพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุน
KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “THE CYCLE IS MATURING” เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเผยคำแนะนำการลงทุน คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ ยังคงเติบโตแต่ในอัตราที่ชะลอลง และยังมีอีกหลายประเด็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับการลงทุน แนะนำนักลงทุนเตรียมพร้อม และปรับกลยุทธ์การลงทุนตามสถานการณ์โลกเพื่อรักษาผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนให้ยั่งยืน ด้วยมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกของ Lombard Odier ให้น้ำหนักลงทุนหุ้นคุณค่า หุ้นวัฏจักร ภูมิภาคเด่นปีนี้เป็นยุโรปและญี่ปุ่น และหุ้นกู้เอกชน High yield ในเอเชีย ย้ำดูแลความเสี่ยงลดผันผวนด้วยการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ผ่านกองทุนผสมและสินทรัพย์ทางเลือก
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่าน การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นก็กลับมาฟื้นตัวได้ดี เพราะ แม้ว่าโอมิครอนจะแพร่ระบาดได้ง่ายแต่อาการไม่รุนแรง จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตน้อย ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจำกัด ส่งผลให้ผลตอบแทนรวมจากดัชนีหุ้นโลก MSCI All Country World Index ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่บวก 18.5% ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดตลอดกาลเลยทีเดียว สำหรับในปีนี้ ธนาคารยังมองว่าเศรษฐกิจโลกจะยังเติบโตได้ ราว 3–4% เนื่องจากภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ ทั่วโลก ทั้งด้านการค้า การผลิต การบริโภค การเดินทาง ยังอยู่ในเกณฑ์ดี กลับเข้าสู่ระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความเสี่ยงอีกหลายปัจจัยที่อาจจะส่งผลลบต่อภาคการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น
- เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 7% ในเดือนธันวาคม 2564 จนเกิดความกังวลว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ถ้าหากปัญหาคอขวดอุปทานไม่คลี่คลายในเร็ว ๆ นี้
- ด้วยเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง อาจทำให้ FED ต้องเข้มงวดนโยบายเร็วกว่าที่ประเมินไว้ และอาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
- เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และมาตรการควบคุมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเทคฯ
- ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งประเด็นไต้หวัน อิหร่าน การเลือกตั้งในฝรั่งเศส ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและประเทศอื่น ๆ
ด้านนางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director – Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกประสบกับภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนเกิดความกังวลว่าเงินเฟ้อสูงจะไม่ใช่เพียงเรื่องชั่วคราว (Transitory) อีกต่อไป อย่างไรก็ดี Lombard Odier คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงในปีนี้ จากระดับสูงที่ 7% ในช่วงปลายปี 2564 โดยปัจจัยที่กดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจะคลี่คลายลง ได้แก่
- ด้านอุปทาน (Supply) ที่เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น จากการคลี่คลายของ 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทาน ที่เกิดจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งด้านการขนส่ง และปัญหาการขาดแคลนสินค้า เริ่มมีการผ่อนคลาย และ 2) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวลง
- ด้านความต้องการซื้อ (Demand) ที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลง เนื่องจาก 1) ความต้องการซื้อที่เคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent–up demand) หลังการเปิดเมือง ค่อย ๆ หมดไป และ 2) มาตรการเยียวยาขนานใหญ่ที่รัฐบาลต่าง ๆ อัดฉีดเงินสู่มือประชาชนได้จบลงไปแล้ว
นอกจากนี้ Lombard Odier มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) น้อยกว่าการคาดการณ์ของตลาด ที่ประเมินว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ถึง 4 ครั้ง โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ในขณะที่ทาง Lombard Odier คาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2–3 ครั้งในปีนี้ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ โดยจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 และ Lombard Odier ยังเชื่อว่าแม้ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ก็จะไม่บั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะยังมีต้นทุนการกู้ยืมที่อยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่ผ่านมามีการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด19 ด้านภาพรวมของจีนในปีนี้จะแตกต่างกับสหรัฐฯ โดยเศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้ก่อน จีนจึงเข้าสู่ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวก่อน ทำให้นโยบายการเงินและการคลังของจีนผ่อนคลาย แตกต่างจากในสหรัฐฯ ที่เริ่มถอนสภาพคล่อง โดยเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) 0.5% และลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.05% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าปีนี้จีนจะผ่อนคลาย ด้านนโยบายการคลังก็คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แม้จะไม่ใหญ่เท่ากับช่วงวิกฤตโควิด 19 แต่จะเป็นนโยบายแบบตรงจุดไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายเท่านั้น เพื่อไม่ให้ระดับหนี้สูงขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาจีนได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเยอะขึ้นเพื่อนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และนอกจากนั้นช่วงไตรมาส 4 ยังมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะมีการโหวตให้ปธน. สี จิ้น ผิง เป็นประธานธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 และจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศอีก 7 ตำแหน่ง ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมือง รัฐบาลมักจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ในขณะที่ข้อบังคับที่เข้มงวดที่กดดันตลาดหุ้นจีนในปีที่ผ่าน คาดว่าจะเบาลงในปีนี้ โดยจะเน้นไปที่การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ออกมาปีที่แล้วมากกว่าออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director – Private Banking Business Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P 500) ที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นที่สุด ที่ 28% หนุนโดยกลุ่มพลังงาน เทคโนโลยี และการเงิน สำหรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนในปี 2565 ได้แก่
- ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น Lombard Odier ก็ยังคงมีมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ แต่อย่างไรก็ดี การคัดเลือกภูมิภาคหรือกลุ่มอุตสาหกรรม จะเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนในปีนี้ หลังมูลค่าหุ้นในบางตลาดอาจจะแพงเกินไปแล้ว โอกาสที่หุ้นทุกตลาดจะปรับตัวขึ้นได้ดีเหมือนปีที่ผ่านมาอาจจะมีความเป็นไปได้ที่น้อยลง โดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) และหุ้นคุณค่า (Value Stock) มากกว่า เพราะมักจะได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อขาขึ้น และบอนด์ยีลด์ขาขึ้น เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน และหากดูตามภูมิภาค แนะนำเน้นลงทุนในยุโรป และญี่ปุ่น ที่คาดว่านโยบายการเงินจะผ่อนคลายตลอดปี ต่างจากสหรัฐฯ ที่กำลังเข้มงวด
- ในด้านตราสารหนี้ Lombard Odier แนะนำให้ลดสัดส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) เนื่องจากให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำไม่สามารถชดเชยราคาที่จะถูกกดันจากบอนด์ยีลด์ขาขึ้นได้ และเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในเอเชียที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (High Yield) และพันธบัตรรัฐบาลจีนให้ผลตอบแทนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
- เพิ่มสัดส่วนเงินสดในพอร์ตเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น หากตลาดมีการปรับฐานก็สามารถใช้โอกาสการเข้าซื้อในราคาที่ต่ำลง
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารยังคงแนะนำกระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ผ่านกองทุนผสมเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลง ทั้งกองทุน K–GA, K–GINCOME, K–GREAT, K–ALLROAD และ K–ALLGROWTH อีกทั้งยังคงปรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ โดยนอกเหนือจากคำแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างหุ้นและตราสารหนี้แล้ว ธนาคารยังแนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity Fund) และ หนี้ภาคเอกชน (Private Debt) ที่ราคาจะไม่ผันผวนตามตลาด แต่มูลค่าเงินลงทุนจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานจริงๆ รวมถึงตราสารหนี้ควบอนุพันธ์ (KIKO) ที่อ้างอิงกับตะกร้าหุ้นไทยและหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยรายเดือนสม่ำเสมอ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้ในปี 2565